Unamed

นิทรรศการ : “การตั้งชื่อเป็นงานของสมพร ผมไม่ใช่สมพร นิทรรศการนี้เลยไม่มีชื่อ” (ฝากไลลาแปลภาษาอังกฤษด้วยนะครับ!!)  

โดย พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง

ภัณฑารักษ์ :  ไลลา พิมานรัตน์

18 พฤศจิกายน – 29 ธันวาคม 2560

  สำหรับนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของพิสิฎฐ์กุลที่หลายริ้วอาร์ทสเปซในครั้งนี้ เขานำประสบการณ์จากช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา เชื่อมโยงถึงประเด็นที่ใหญ่กว่าในสังคมไทย ก่อนหน้านี้เขาได้จัด เทศกาลศิลปะที่ใช้ชื่อว่า IN THE TITANIC WE LOOKING FOR SOMEONE : SUPER ART EXPO 2017 ซึ่งประกอบไปด้วยนิทรรศการศิลปะ รวมไปถึงโปรเจคส์ศิลปะที่จัดแสดงอยู่หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งผลงานที่สร้างขึ้นใหม่ รวบรวมผลงานหลายชุดที่เคยทำก่อนหน้านี้มาจัดแสดงอีกครั้ง ผ่านสื่อที่หลากหลาย รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของผู้คน และผลงานการแสดงสดYou can’t handle her (2017)  นับเป็นนิทรรศการเเรกของเทศกาลศิลปะดังกล่าว ภาพเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นกับตัวเขาเองในปี พ.ศ. 2555 ถูกนำมาสักบนแผ่นหลังของตัวศิลปินเอง Youn can’t handle her นับเป็นจุดเริ่มต้นบทสนทนาของเทศกาลดังกล่าวที่ย้อนเรื่องราวไปถึงประสบการณ์ของพิสิฎฐ์กุล และแนวคิดหลายๆอย่างที่ส่งผลต่อการสร้างงานศิลปะของเขา After the fact (2012-2017) เป็นผลงานต่อเนื่องจากงานชุด The unfinished history ซึ่งเขาเริ่มทำงานชุดนี้ในปี พ.ศ. 2555 ที่สื่อที่เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ถูกสร้างขึ้น  Oh Oh Oh (2017) ผลงานการแสดงสด และการจัดวางที่ย้อนไปถึงผลงานจากชุด Zet Zero (2014) ผลงานชุด Black Country (2015-2017) ผลงานการแสดงสด และการแสดงผลงานต่อเนื่องตลอด 72 ชั่วโมง รวมถึงผลงานดนตรีที่ถูกสร้างขึ้นใหม่

นิทรรศการ การตั้งชื่อเป็นงานของสมพรผมไม่ใช่สมพรนิทรรศการนี้เลยไม่มีชื่อ (ฝากไลลาแปลภาษาอังกฤษด้วยนะครับ!!) นับเป็นอีกหนึ่งหลักฐานที่บ่งชี้ถึงการใช้อารมณ์ขันในการทำงานศิลปะ และสื่อถึงความเป็นตัวตนของพิสิฎฐ์กุลได้เป็นอย่างดีในการสร้างความฉงนให้กับผู้ชม ในนิทรรศการประกอบไปด้วยข้อความที่ถูกตัดตอนมาจากปฐมบทจากคำภีร์ไบเบิลของคริสต์ศาสนา ข้อความดังกล่าวถูกเขียนด้วยถ่านสีดำอยู่ทั่วผนังของหลายริ้วอาร์ทสเปซ การอ้างอิงถึงคัมภีร์ไบเบิลเกี่ยวเนื่องกับชื่อนิทรรศการที่พูดถึงหน้าที่อดัมได้รับมอบหมายให้ตั้งชื่อสัตว์ต่างๆในช่วงที่พระเจ้ากำลังสร้างโลก ในขณะที่ ‘สมพร’ เป็นตัวละครสมมติที่พิสิฎฐ์กุลสร้างขึ้นมา ในขณะที่ผลงานอีก 3 ชุดเกี่ยวเนื่องกับ ‘ความตาย’ และ ‘คนตาย’ อย่างมีนัยยะสำคัญ Skeleton (2017) ชิ้นส่วนโครงกระดูกเซรามิคส์ และ KRA SUE and KRA HANG (2017) ผลงานภาพเขียนผีที่ถูกติดตั้งอยู่ในพื้นที่จัดแสดงผลงาน ผลงาน Skeleton (2017) มีร่องรอยของเศษดินและฝุ่นบ่งบอกถึงร่องรอยของการที่ผลงานชุดดังกล่าวน่าจะถูกขุดขึ้นมาจากที่ใดสักแห่งก่อนนำมาจัดแสดง  ในขณะที่ผีอย่างกระสือและกระหัง นับเป็นภาพแทนผีร้ายที่ยังมีชีวิตอยู่ และอาศัยอยู่ได้ด้วยการกินของสดและของคาว ผีกระสือและกระหังนับเป็นผีที่มีอยู่ในหลายวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผลงาน Valentines Day (2013) เป็นผลงานที่ถูกทำขึ้นในปีพ.ศ. 2556 โดยพิสิฎฐ์กุลส่งโปสการ์ดที่มีรูปภาพของบุคคลอยู่ และขอให้เพื่อนเขียนจดหมายถึงคนรักเก่าก่อนที่จะส่งกลับมาให้เขาเอง Object of Valentines Day (2010) เป็นผลงานที่ถูกเก็บไว้กับผู้ดูแลพื้นที่หลายริ้วอาร์ทสเปซ ซึ่งผู้ชมสามารถขอชมได้จากผู้ดูเเลนิทรรศการประจำหลายริ้วอาร์ทสเปซ นอกจากนี้ ผลงานการแสดงสด และการเปิดบูธร้านสักยังถูกจัดขึ้นในฐานะส่วนหนึ่งของนิทรรศการกล่าวได้ว่าพิสิฎฐ์กุลได้ผูกโยงเรื่องราวทางประสบการณ์ เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ ความเชื่อ เรื่องเล่า เข้าไว้ด้วยกันอย่างแยกไม่ออก ดังที่เขามักกล่าวไว้เสมอ “การเข้าใจเรื่องราวต่างๆ ราวไม่สามารถมองมันได้จากมุมมองแบบระนาบตรง แต่ต้องมองหาความเชื่อมโยง และเข้าใจเสมอว่าเรื่องราวต่างๆที่ถูกผูกโยงและซ้อนทับกันอยู่เสมอ” 

เกี่ยวกับ MANY CUTS ART SPACE
Many Cuts Art Space หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ หลายริ้วอาร์ทสเปซ ตั้งอยู่บนพื้นที่ใจกลางเมืองของจังหวัด ฉะเชิงเทรา หรือเมืองแปดริ้ว หลายริ้วอาร์ทสเปซก่อตั้งโดยกลุ่มคนทำงานศิลปะ และอาจารย์สอนภาควิชา ศิลปะในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีจุดมุ่งหมายในการเป็นพื้นที่เพื่อศิลปะร่วมสมัย และการศึกษาเพื่อชุมชนแห่งนี้ หลายริ้ว อาร์ทสเปซมีความมุ่งหมายในการก่อร่างสร้างพื้นที่เพื่อศิลปะ การทำงานสร้างสรรค์ และการศึกษาขึ้น โดยมีความตั้งใจในการเป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างชุมชนศิลปะขึ้นในพื้นที่ และแวดวงศิลปะร่วมสมัย ไทย

เกี่ยวกับศิลปิน

พิสิฎฐ์กุล ควรแถลง เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2529 ที่กรุงเทพมหานคร พิสิฎฐ์กุลจบการศึกษาจากสาขาวิชาประติมากรรม จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พิสิฎฐ์กุลมักทำงานศิลปะกับสื่อและเทคนิคที่หลากหลาย และไม่จำกัดการนำเสนอผลงานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง พิสิฎฐ์กุลทำงานศิลปะบนรากฐานจากประสบการณ์ เขาสนใจในประเด็นทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ รวมถึงวัฒนธรรมป๊อป และมักเชื่อมโยงประสบการณ์ของเขาเองเข้ากับประเด็นดังกล่าวพิสิฎฐ์กุลมีผลงานการเเสดงเดี่ยวและกลุ่มมาอย่างต่อเนื่องทั้งในและต่างประเทศ บางส่วนของนิทรรศการเดี่ยวล่าสุดของเขา ได้แก่ เทศกาลศิลปะIN THE TITANIC WE LOOKING FOR SOMEONE : SUPER ART EXPO 2017 ที่จัดแสดงผลงานศิลปะในพื้นที่หลายแห่งทั่วกรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2560) นิทรรศการ impossibKK-DREAM ที่ LENDROIT Éditions ประเทศฝรั่งเศส (พ.ศ. 2558)  นิทรรศการ Get Out project ที่ Soap Gallery เมืองคิตะคิวชู ประเทศญี่ปุ่น (พ.ศ. 2557) นิทรรศการ ZZ ที่ WTF Gallery กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (พ.ศ. 2557) นิทรรศการ WRATH OF THE TITANS ที่ Speedy Grandma กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย (พ.ศ. 2556) นิทรรศการ  UNFINISHED HISTORY PROJECT ที่ PUNTO PRECT เมืองเบปปุ ประเทศญี่ปุ่น (พ.ศ. 2555) เป็นต้น   พิสิฎฐ์กุลนับเป็นศิลปินที่พยายามตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ต่างๆ และในขณะเดียวกันมักสร้างความประหลาดใจให้กับผู้ชมอยู่เสมอ บ่อยครั้งที่เขานำอารมณ์ขันมาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานศิลปะ โดยประเด็นที่เขาให้ความสนใจมักเกี่ยวเนื่องกับประสบการณ์ ที่เชื่อมโยงกับประเด็นทางประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ รวมไปถึงวัฒนธรรมป๊อป เขามักทำงานกับสื่อที่หลากหลาย รวมถึงนำสื่อที่เขาสนใจอย่างดนตรี และการแสดงสด หรือการสร้างการปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานศิลปะอยู่เสมอ

%d bloggers like this: