Silent No More : AFTER SHOCK
Chronic Wounds
Holy Holes
curated by Lyla Phimanrat
นิทรรศการไม่เงียบอีกต่อไป SILENT NO MORE : Aftershock l Chronic Wounds I Holy Holes ต้องการนำเสนอประเด็นทางประวัติศาสตร์การเมืองและสังคมไทย ผ่านเหตุการณ์ทั้งในอดีตและปัจจุบันที่ไม่ถูกพูดถึง ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องคลุมเครือมาโดยตลอด ถูกทำให้เลือนหายไปจากของความจำของสังคมไทย และไม่เคยถูกชำระในฐานะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งผ่านสาตาของศิลปินทั้ง 3 คนที่มีมุมมองต่อเหตุการณ์ ความสะเทือนใจ รวมถึงผลกระทบที่มีต่อชีวิตของตัวศิลปินเอง
SILENT NO MORE : Aftershock (2014-2015) เป็นผลงานของศิลปินเชียงใหม่ ปพนศักดิ์ ละออ ที่เชื่อมโยงเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิในโทโฮะกุ ที่ชายฝั่งภาคตะวันออกของประเทศญี่ปุ่น กับสถานการณ์ของการเมืองไทย ภาพวิวทิวทัศน์ของเมืองที่ดูปกติสุขแท้จริงแล้วเป็นพื้นที่ที่ผู้คนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ผู้คนต้องอพยพออกจากพื้นที่ และถูกทิ้งไว้เป็นเพียงเมืองร้าง บนภาพเหล่านั้นข้อความที่ถูกเขียนขึ้นด้วยฝุ่นผง กำลังสื่อสารกับผู้ชมผ่านความเงียบ
SILENT NO MORE : Chronic Wounds (2017) เป็นผลงานการเขียนภาพสดโดยวนะ วรรลยางกูร ที่นำเสนอภาพเหตุการณ์ความรุนแรงจากเหตุการณ์จริงที่เคยเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ ผลงานการเขียนภาพสดของวนะนับเป็นผลงานการแสดงสดต่อเนื่อง ราวกับว่าเขาอยากให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับความเจ็บปวด และบาดแผลในประวัติศาสตร์ร่วมกัน
SILENT NO MORE : Holy Holes (2017) เป็นผลงานชุดต่อเนื่องชุดล่าสุดของคธา แสงแข เหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ถูกนำเสนอผ่านผลงานภาพถ่ายและผลงานวีดีโอ ที่กำลังเป็นกระบอกเสียงถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีก่อน
เกี่ยวกับ MANY CUTS ART SPACE
Many Cuts Art Space หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ หลายริ้วอาร์ทสเปซ ตั้งอยู่บนพื้นที่ใจกลางเมืองของจังหวัด ฉะเชิงเทรา หรือเมืองแปดริ้ว หลายริ้วอาร์ทสเปซก่อตั้งโดยกลุ่มคนทำงานศิลปะ และอาจารย์สอนภาควิชา ศิลปะในจังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมีจุดมุ่งหมายในการเป็นพื้นที่เพื่อศิลปะร่วมสมัย และการศึกษาเพื่อชุมชนแห่งนี้ หลายริ้ว อาร์ทสเปซมีความมุ่งหมายในการก่อร่างสร้างพื้นที่เพื่อศิลปะ การทำงานสร้างสรรค์ และการศึกษาขึ้น โดยมีความตั้งใจในการเป็นหมุดหมายสำคัญในการสร้างชุมชนศิลปะขึ้นในพื้นที่ และแวดวงศิลปะร่วมสมัย ไทย
เกี่ยวกับศิลปิน
เกี่ยวกับศิลปิน
คธา แสงแข เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2519 คธาจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากภาควิชาทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และเข้ารับการศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาประติมากรรมที่ University of California ลอสแองเจอลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบการศึกษาระดับปริญญาเอกจาก RMIT University ประเทศออสเตรเลีย คธามักทำงานศิลปะที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นเรื่องอัตลักษณ์ สังคมเมือง การท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อมทางวัฒนธรรม สถานการณ์ที่เฉพาะเจาะจง (situation-specific) และประเด็นทางสังคม-การเมือง ปัจจุบันคธาทำงานศิลปะ และเป็นอาจารย์สอนในภาควิชาศิลปะที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ
ปพนศักดิ์ ละออ เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2524 ที่จังหวัดนนทบุรี ประเทศไทย จบการศึกษารระดับปริญญาตรีจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2546) และปริญญาโทจากสาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ. 2556) ปพนศักดิ์มักทำงานที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพสังคม และการเมืองไทย รวมถึงการพูดถึงประเด็นต้องห้ามในสังคมไทย
วนะ วรรลยางกูร เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2529 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และระดับปริญญาโทจากภาควิชาศิลปะสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วนะเป็นหนึ่งศิลปินที่มีส่วนร่วมกิจกรรมทางการเมืองมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปี และมักทำงานศิลปะเพื่อเป็นกระบอกเสียงเรียกร้องประชาธิปไตยมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันวนะทำงานศิลปะ และเป็นอาจารย์พิเศษที่ภาควิชาศิลปกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์
เกี่ยวกับภัณฑารักษ์
เกิดเมื่อปีพ.ศ. 2529 ที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ไลลา พิมานรัตน์ จบการศึกษาจากภาควิชาภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (พ.ศ. 2551) ปัจจุบันเป็นภัณฑารักษ์อิสระ และเป็นผู้ก่อตั้งไลลาแกลเลรี่ จังหวัดเชียงใหม่ บางส่วนของผลงานนิทรรศการที่ผ่านมาได้แก่ CITYSCAPE vol. 1 ที่หลายริ้วอาร์ทสเปซ จังหวัดฉะเชิงเทรา ประเทศไทย (พ.ศ. 2560) นิทรรศการ VARIATION ที่ไลลาแกลเลอรี จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2559) นิทรรศการ Silent No More ที่ไลลาแกลเลอรี จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2558) นิทรรศการ messages from nowhere to nowhere ที่ไลลาแกลเลอรี จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2558) นิทรรศการ FLASHBACK อารยา ราษฎจำเริญสุข ฤกษ์ฤทธิ์ตีระวานิช อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล มณเฑียร บุญมา และชัย ศิริ ที่ไลลาแกลเลอรี จังหวัดเชียงใหม่ (พ.ศ. 2558) นิทรรศการ TRANCE ที่แกลเลอรี่เวอร์ กรุงเทพมหานคร (พ.ศ. 2556) เป็นต้น