โดย เจียระไน ฟูกาญจนานนท์
21 กรกฏาคม ถึง 28 สิงหาคม 2564

นิทรรศการศิลปะ Breaking Gender Norms โดย เจียระไน ฟูกาญจนานนท์
สังคมเอเชียและโดยเฉพาะสังคมไทย เป็นพื้นที่ที่ให้คุณค่ากับวัฒนธรรม “ชายเป็นใหญ่” มาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะในกลุ่มคนไทยที่มีลักษณะของเชื้อชาติผสมของไทย-จีน “เพศสภาพ” เป็นเรื่องต้องห้ามในการถูกพูดถึงและถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก แม้ว่าในโลกเสรีทั้งหลาย ต่างเริ่มพูดถึงประเด็นนี้ทั้งในแง่กฎหมายและเจตจำนงค์เสรี (free will ) กันอย่างกว้างขวางแล้วก็ตาม

แม้ในช่วง 2-3 ปีหลัง กลุ่มคนที่เกิดในต้นศตวรรษที่ 21 จะมีจิตสำนึกในเรื่อง “เพศสภาพ”ที่ต่างออกไปจากคนรุ่นพ่อแม่ มีการพูดถึงประเด็นนี้ในที่สาธารณะ ทั้งในแง่ของกฎหมายและการปกป้องความหลากหลายทางเพศสภาพในสังคมไทย ให้พวกเขาสามารถมีที่ยืนอย่างสง่างามในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง สามารถแสดงออกอย่างเต็มที่ในพื้นที่สาธารณะและโลกโซเซียล แต่เมื่อกลับถึงบ้านกลุ่มคน LGBTQ ยังไม่สามารถแสดงตัวตนได้อย่างเสรีในครอบครัวของตัวเอง ด้วยลักษณะครอบครัวไทยที่เป็นครอบครัวใหญ่ มีคนหลายเจเนเรชั่นอาศัยอยู่ภายใต้หลังคาเดียวกัน พื้นที่ในบ้านดูเหมือนจะมีความอิสระน้อยกว่ากว่าพื้นที่สาธารณะ
เจียระไน ฟูกาญจนานนท์ หรือ นิกกี้ เกิดในครอบครัวชนชั้นกลางระดับบน( Upper Middle Class) ของคนไทยเชื้อสายจีน แม้เธอจะถือสัญชาติไทย แต่ด้วยความที่ครอบครัวต้องย้ายถิ่นฐานในการทำงานตั้งแต่ยังเด็ก ทำให้ได้เธอใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยแค่ช่วงเวลาสั้นๆ หลังจากจบการศึกษาในระดับมัธยมปลาย เธอบินลัดฟ้าไปศึกษาต่อที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จบการศึกษา Bachelors of Science in Business Administration degree from Boston University ในปี 2015. ในระหว่างที่เธอใช้ชีวิต เป็นคนหน้าตาเอเชียในประเทศอเมริกา เธอได้พบทั้งปัญหาการเหยียดเชื้อชาติที่เกิดขึ้นกับตัวเธอเอง และเฝ้าสังเกตเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นกับทั้งคนรอบตัวและประเด็นที่เป็นข่าวในสังคมปัจจุบัน
เมื่อมีโอกาสกลับมาประเทศไทยในช่วงต้นปี 2021 ระหว่างสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิค 19 เธอต้องใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในบ้านกับคนอีกสองเจเนอเรชั่นที่ยังมีความคิดแบบอนุรักษ์นิยม ตัวตนของเธอที่เคยใช้ชีวิตอย่างอิสระกลับถูกกดและแอบซ่อนอีกครั้ง เมื่ออยู่ในพื้นที่ “บ้าน” ของตัวเอง และอาจจะเป็นเรื่องน่าแปลกในสังคมไทย ที่พื้นที่บ้านไม่ได้มีอิสระเท่ากับพื้นที่สาธารณะ ความรู้สึกและความสนใจของนิกกี้ในประเด็นเพศสภาพ จึงถูกอธิบายอีกครั้งในรูปแบบของงานจิตรกรรม ผ่านนิทรรศการศิลปะ Breaking Gender Norms ที่เธอได้ใช้ช่วงเวลาที่อยู่ในประเทศไทยรังสรรค์ผลงานชุดนี้ขึ้นมา
ย้อนกลับไปในสมัยเรียน นิกกี้สนใจด้านศิลปะมาโดยตลอด แต่ด้วยความที่คุณพ่อของเธอยังไม่สนับสนุนให้เธอได้เรียนศิลปะอย่างที่ต้องการ ทำให้เธอต้องฝึกฝนการทำงานศิลปะด้วยตนเอง โดยเริ่มจากการทำงานศิลปะแบบนามธรรม (Abstract Art) และขายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของเธอ ทั้งภาพงานศิลปะที่สวยงามและผลงานที่เธอต้องการสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาหลายชิ้นต่อหลายชิ้น ศิลปะสำหรับเธอ เป็นเหมือนการบำบัดความคิดที่อยู่ภายในจิตใจให้ได้สื่อสารกับโลกภายนอก

ในนิทรรศการ Breaking Gender Norms ซึ่งเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเธอ นิกกี้เลือกพูดถึงประเด็นของเพศสภาพผ่านการเฝ้าสังเกตชีวิตคนรอบตัวเธอ โดยการเขียนภาพสัญลักษณ์ของเพศสภาพต่างๆที่ถูกกดทับในสังคมผ่านงานสร้างสรรค์จำนวน 4 ชิ้น ภาพร่างกายของมนุษย์ที่ถูกเขียนขึ้นสดๆโดยไม่มีการร่าง ประหนึ่งการสร้างสรรค์ผลงานนามธรรม ถูกจัดการท่าทางเพื่อแสดงออกถึงความอิสระเสรีแบบที่มนุษย์คนนึงควรจะมีได้ ร่างกายของคนที่ไม่แสดงออกถึงความเป็นเพศอย่างชัดเจนกำเนิดขึ้นมาจากแทนวางเทียนไข สีทองที่เธอบรรเลงลงไปเปรียบเสมือนแสงสว่างของคนที่ประกายความอิสระในการเลือกที่จะเป็น เลือกที่จะใช้ชีวิตในแบบของเขาเอง

ผลงานทั้งสี่ชิ้นถูกพูดถึงในเนื้อหาที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความแข็งแกร่งของผู้หญิงที่อยู่ภายใต้เครื่องแบบของตำรวจพวกเธอต้องมีทั้งสภาพร่างกายและจิตใจเหมือนกับผู้ชายเวลาอยู่ในที่ทำงาน และต้องเป็นแม่เมื่ออยู่ที่บ้าน ผลงานชื่อ Men don’t cry ที่พูดถึงการร้องไห้ของผู้ชาย ที่ไม่อาจจะเปิดเผยน้ำตายให้ใครเห็นได้เพียงเพราะความเป็นเพศชายของพวกเขา ผลงานที่ชื่อ Breaking Free แสดงภาพร่างกายที่อิสระของมนุษย์ปราศจากการพันธนาการใดๆ หรือผลงานที่ชื่อ Well dressed ที่สื่อถึงกายแต่งกายในกระโปรงเต้นรำ ภายใต้ร่างกายอันกำยำที่ไม่สามารถระบุเพศได้

นอกจากสีและสัญลักษณ์ที่เธอนำมาใช้ในงานเพื่อแสดงเนื้อหาของผลงานแต่ละชิ้น นิกกี้ได้เขียนบทกวี ที่บรรยายความคิดของเธอกับภาพเขียนที่อยู่ตรงหน้า ในภาษาของบทกวีมีความละเมียดละมัยและแสดงถึงสายตาที่เอื้ออาทรหวังให้กำลังใจมนุษย์ทุกคน ที่กำลังประสบปัญหาของการแสดงออกทางเพศสภาพ โดยเธอหวังว่าพลังของทั้งภาพวาดและบทกวีในนิทรรศการนี้ จะช่วยให้กำลังใจและให้สังคมไทยตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพ มากกว่าการถูกกดทับด้วยเพศกำเนิดของแต่ละคน
Breaking Gender Norms ไม่ได้เพียงแค่พูดถึงปัญหาเพศสภาพในสังคมไทยเท่านั้น แต่เชื่อว่าในพื้นที่อีกหลายแห่งในโลก เรื่องเหล่านี้ยังเป็นเรื่องต้องห้ามและท้าทายความคิดของผู้คนในยุคสมัยใหม่ ในฐานะศิลปินหญิงที่ได้ใช้ชีวิตในทั้งวัฒนธรรมแบบอนุรักษ์นิยมของไทย และการเดินทางใช้ชีวิตอิสระในต่างแดน ผลงานของเจียระไน ฟูกาญจนานนท์ ได้ทำหน้าที่แทนคำบอกเล่าประสบการณ์ชีวิตของเธอได้อย่างหมดจด และหวังว่ามันจะจุดประการและส่งต่อความคิดนี้ต่อไปเฉกเช่นเดียวกับแสงเทียนที่ไม่มีวันดับในงานจิตรกรรมของเธอ